โคเออร์แม่สอดจัดโครงการอบรมเกษตรอินทรีย์โดยวิทยากรผู้ลี้ภัยที่สำเร็จหลักสูตรของโคเออร์

   ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โคเออร์แม่สอดได้จัดการอบรมหลักสูตรเกษตรอินทรีย์เบื้องต้น และขั้นสูง ให้กับเยาวชนผู้ลี้ภัย ให้มีพื้นฐานความรู้ด้านการเกษตร ในสองพื้นที่ โดยจัดอบรมเกษตรอินทรีย์เบื้องต้นให้แก่ พื้นที่ ฯ บ้านแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ. ตาก ในช่วงวันที่ 16, 23, 30 มิถุนายน และ 7 กรกฎาคม 2560 มีผู้ลี้ภัยเข้าร่วมจำนวน 200 คน เป็นชาย 89 คน หญิง 111 คน

  

  

  

  

โคเออร์อบรมเกษตรอินทรีย์เบี้องต้นให้กับเยาวชนผู้ลี้ภัยแม่หละ

   นอกจากนี้ได้ให้การอบรมที่พื้นที่ ฯ บ้านอุ้มเปี้ยม อ. พบพระ จ. ตาก ในวันที่ 14,15,28 และ 29 กรกฎาคม 2560 มีเยาวชนเข้ารับการอบรมจำนวน 102 คน เป็นชาย 36 คน หญิง 66 คน โดยมีหัวข้อในการอบรม ได้แก่ การบำรุงดิน การเพาะปลูกพืชผัก การทำเกษตรผสมผสาน การจัดการโรคและแมลงด้วยการผลิตสารชีวภาพในการไล่แมลง การทำอาหารเลี้ยงสัตว์ต้นทุนต่ำ การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า การแปรรูปผลผลิตในครัวเรือนเพื่อเพิ่มมูลค่า การบันทึกข้อมูลรายรับรายจ่ายในครัวเรือนของผู้เข้ารับการอบรม ส่วนภาคปฏิบัติ มีการสอนทำปุ๋ยน้ำจากวัสดุที่สามารถหาได้ในชุมชน และการผสมดินเตรียมเพาะปลูก

  

  

  

บรรยากาศการอบรมเกษตรอินทรีย์เบื้องต้นในห้องเรียนและการลงมือปฎิบัติที่บ้านอุ้มเปี้ยม

   นอกจากนี้ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม โคเออร์ยังให้การอบรมหลักสูตรเกษตรอินทรีย์ขั้นสูงที่บ้านอุ้มเปี้ยม โดยจัดขึ้นในวันที่ 6, 8, 13, 14, 21 และ 22 มิถุนายน และ วันที่ 4, 5, 11 และ 12 กรกฎาคม มีเกษตรกรเข้ารับการอบรมจำนวน 23 คน เป็นชาย 14 คน และหญิง 9 คน ซึ่งวิทยากรในการอบรมคือผู้ที่สำเร็จ “หลักสูตรการอบรมวิทยากรเกษตรอินทรีย์” ของโคเออร์ จำนวน 3 คนมาทำการสับเปลี่ยนกันให้ความรู้อย่างเข้มข้น ทั้งภาคทฤษฏี ด้วยการฉายสไลด์ประกอบการบรรยายความรู้ และภาคปฏิบัติมีการทดสอบธาตุอาหารในดิน การทดสอบความงอกของเมล็ดพันธุ์ และการทำปุ๋ยใช้เอง ด้วยเนื้อหาตามหลักสูตรในคู่มือ”การฝึกอบรมวิทยากรเกษตรอินทรีย์สำหรับผู้หนีภัยเพื่อการเตรียมกลับคืนสู่มาตุภูมิ” ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 12 บท ได้แก่ ระบบนิเวศเกษตร ส่วนประกอบและโครงสร้างของพืช ดินสำหรับการปลูกพืช ธาตุอาหารพืช ภูมิอากาศกับการเกษตร หลักการเกษตรอินทรีย์ การปรับปรุงดินในระบบเกษตรอินทรีย์ การป้องกันและจัดการศัตรูพืช ความต้องการน้ำของพืชและการจัดการน้ำ การเก็บเมล็ดพันธุ์พืชและการปรับปรุงพันธุ์ การเลี้ยงสัตว์ในระบบอินทรีย์ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบอินทรีย์

    

บรรยากาศในการอบรม พบว่า ผู้เรียนมีความตื่นตัวสนใจ เพราะมีการสับเปลี่ยนวิทยากรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งวิทยากรเป็นผู้ลี้ภัยด้วยกัน จึงทำให้การเรียนการสอนและการสื่อสารด้านภาษาเป็นที่เข้าใจได้ง่าย